...ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น มีวินัย ใส่ใจ สิ่งแวดล้อม....

 

ชื่อเรื่อง       การพัฒนาสื่อประสมเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ รายวิชาฟิสิกส์ เรื่อง คลื่น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย          นางทิวาภรณ์  เลิศวีรพล
ปีที่วิจัย        ปีการศึกษา 2562

บทคัดย่อ

                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาสื่อประสม เรื่อง คลื่น ให้มีประสิทธิภาพ 80/80 (2) หาค่าดัชนีประสิทธิผลของสื่อประสม (3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการคิดวิเคราะห์ก่อนและหลังจากเรียนโดยใช้สี่อประสมที่พัฒนาขึ้น (4) ศึกษาระดับความพึงพอใจนักเรียนที่เรียนด้วยสื่อประสม
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 22 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ สื่อประสมและแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 9 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติการสอนของครู ได้แก่ แบบบันทึกเหตุการณ์ขณะทำการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และแบบทดสอบย่อยหลังจากเรียนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้และสื่อประสมเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ในแต่ละเรื่องย่อย 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการคิดวิเคราะห์ จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจของนักเรียน
                การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการวิจัยทั้งหมด 3 วงจร ดังนี้ วงจรปฏิบัติการที่ 1 ประกอบไปด้วย แผนการจัดการเรียนรู้และสื่อประสมลำดับที่ 1 – 3 วงจรปฏิบัติการที่ 2 ประกอบไปด้วย แผนการจัดการเรียนรู้และสื่อประสมลำดับที่ 4 – 6 วงจรปฏิบัติการที่ 3 ประกอบไปด้วย แผนการจัดการเรียนรู้และสื่อประสมลำดับที่ 7 – 9 และเมื่อสิ้นสุดในแต่ละวงจรผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสะท้อนผลการปฏิบัติงานเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนและสื่อประสมวิชาฟิสิกส์ ในวงจรปฏิบัติการต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยพบว่า

  1. สื่อประสม เรื่อง คลื่น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 92.87/91.17 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
  2. สื่อประสม เรื่อง คลื่น ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7336 แสดงว่า กิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.36
  3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้สื่อประสม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
  4. นักเรียนที่ได้เรียนโดยใช้สื่อประสม มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด

กลับสู่ด้านบน